เกี่ยวกับโครงการ
TPMAP คืออะไร
TPMAP คือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อยอดจากระบบบริหารจัดการข้อมูลคนจนแบบชี้เป้า (Thai Poverty Map and Analytics Platform) ให้สามารถครอบคลุมปัญหาที่กว้างขึ้น เช่น เด็กแรกเกิด การศึกษา ผู้สูงอายุ การพัฒนาสภาพที่อยู่อาศัย โดยยังคงความสามารถของระบบเดิมในการชี้เป้าความยากจนไว้ด้วย TPMAP จึงสามารถใช้ระบุปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น/ท้องที่ จังหวัด ประเทศ หรือปัญหาความยากจนรายประเด็น ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นและสามารถออกแบบนโยบาย โครงการในการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาได้
TPMAP เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ที่มาของ TPMAP
ในคราวการประชุม ครั้งที่ 5/2560 ของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ มีมติเห็นชอบการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบ Big Data ของภาครัฐ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน ต่อมาคณะทำงานฯ ได้มีการมอบหมายให้ สศช. ร่วมกับ NECTEC ในการดำเนินการพัฒนากรณีตัวอย่างการพัฒนาระบบ Big Data ของภาครัฐ ในประเด็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งในด้านการเพิ่มรายได้ ลดภาระค่าครองชีพ และเพิ่มโอกาสด้านอาชีพ สศช. และ NECTEC ได้ร่วมกันพัฒนาตัวอย่างระบบเบื้องต้น TPMAP ขึ้น
ต่อมา สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีได้มีบันทึกข้อความกราบเรียนนายกรัฐมนตรีถึงความก้าวหน้าการนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินฯ เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ 2561 ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้นำรายงานความก้าวหน้าการนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินฯ และตัวอย่างระบบเบื้องต้น TPMAP ให้คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มาของข้อมูลใน TPMAP
หลักการทำงานของ TPMAP คืออาศัยข้อมูลจากหลายแหล่งมายืนยันซึ่งกันและกัน โดยในปัจจุบันใช้สมมติฐานว่าคนที่ได้รับการสำรวจว่าจน (survey-based) และยังมาลงทะเบียนว่าจนอีกด้วย (register-based) น่าจะเป็นคนจนเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ดังนั้น TPMAP จึงตั้งต้นโดยใช้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)จากกรมการพัฒนาชุมชน และข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐจากกระทรวงการคลัง มายืนยันซึ่งกันและกัน หรืออีกนัยหนึ่ง "คนจนเป้าหมาย" ใน TPMAP ก็คือคนจนใน จปฐ. ที่ไปลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ
TPMAP ใช้วิธีการคำนวณดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index: MPI) ซึ่งพัฒนาโดย Oxford Poverty & Human Development Initiative และ United Nation Development Programme ซึ่ง สศช. ได้นำมาปรับใช้กับประเทศไทย โดยดัชนีความยากจนหลายมิติ หรือ MPI อาศัยหลักการที่ว่า คนจนคือผู้ที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพชีวิตที่ดีในมิติต่างๆ ซึ่ง TPMAP พิจารณาจาก 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านการเงิน ด้านความเป็นอยู่ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ
TPMAP ตอบคำถามอะไร
TPMAP สามารถนำมาใช้ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้โดยสามารถใช้ช่วยระบุปัญหาที่เกี่ยวกับความยากจน โดยสามารถใช้ตอบคำถาม 3 ข้อ ได้แก่ คนจนอยู่ที่ไหน? คนจนมีปัญหาอะไร? จะพ้นความยากจนได้อย่างไร?
ตอบคำถาม "คนจนอยู่ที่ไหน"
TPMAP สามารถระบุ “คนจนเป้าหมาย” หรือ คนจนในข้อมูล จปฐ. ที่มาลงทะเบียนเพื่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 โดยแสดงผลแบบ Data Storytelling บน www.tpmap.in.th แสดงข้อมูลจำนวนคนจนและสัดส่วนคนจนเชิงพื้นที่ ตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ ตำบล ทำให้ทราบว่าแต่ละพื้นที่มีคนจนกี่คน สามารถจัดลำดับพื้นที่ตามจำนวนและสัดส่วนคนจน เพื่อพิจารณาพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน
ตอบคำถาม "คนจนมีปัญหาอะไร"
TPMAP สามารถระบุได้ว่า “คนจนเป้าหมาย” มีปัญหาอะไรบ้างในแต่ละมิติ จากข้อมูลจำนวนคนในครัวเรือนยากจนที่ตกตัวชี้วัดความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ในแต่ละมิติ โดยตัวชี้วัดจปฐ. ที่นำมาใช้ในการคำนวณดัชนีความยากจนหลายมิติ (MPI) ประกอบด้วย
ด้านสุขภาพ
  • เด็กแรกเกิดมีน้ำหนัก 2,500 กรัมขึ้นไป
  • ครัวเรือนกินอาหารถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน
  • ครัวเรือนมีการใช้ยาเพื่อบำบัด บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นอย่างเหมาะสม
  • คนอายุ 6 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที
ด้านความเป็นอยู่
  • ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และบ้านมีสภาพคงทนถาวร
  • ครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคเพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 5 ลิตรต่อวัน
  • ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 45 ลิตรต่อวัน
  • ครัวเรือนมีการจัดการบ้านเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และถูกสุขลักษณะ
ด้านการศึกษา
  • เด็กอายุ 3-5 ปี ได้รับบริการเลี้ยงดูเตรียมความพร้อมก่อนวัยเรียน
  • เด็กอายุ 6-14 ปี ได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี
  • เด็กจบชั้น ม.3 ได้เรียนต่อชั้น ม.4 หรือเทียบเท่า
  • คนอายุ 15-59 ปี อ่าน เขียนภาษาไทย และคิดเลขอย่างง่ายได้
ด้านรายได้
  • คนอายุ 15-59 ปี มีอาชีพและรายได้
  • คนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอาชีพและรายได้
  • รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปี
ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ
  • ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน
  • ผู้พิการ ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน
นอกจากนั้น TPMAP ยังสามารถเปรียบเทียบข้อมูลปีต่อปี ทำให้เห็นสภาพปัญหาว่ามีทิศทางปรับลดหรือรุนแรงมากขึ้นเพียงใด ซึ่งสามารถนำมาใช้ประเมินปัจจัยที่อาจส่งผลต่อปัญหาดังกล่าว หรือประเมินประสิทธิภาพของนโยบายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นได้ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหาตรงจุด และเลือกนโยบายได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ตอบคำถาม "จะพ้นความยากจนได้อย่างไร"
ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์กับผู้กำหนดนโยบาย เและหน่วยงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้สามารถออกนโยบายและปฎิบัติเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยในอนาคต TPMAP จะผนวกรวมข้อมูลจากมิติอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้การวิเคราะห์ครอบคลุมและแม่นยำขึ้น
TPMAP สู่การนำไปใช้จริง
ได้มีการนำเสนอระบบ TPMAP แก่ส่วนราชการ จังหวัดลำพูน มุกดาหาร และนครพนม ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจตระหนักถึงความสำคัญของระบบฐานข้อมูล ได้มีโอกาสฝึกการใช้งานรวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นแนวทางการพัฒนาระบบให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมขอความร่วมมือจากส่วนราชการร่วมดำเนินการจัดทำข้อมูลเพื่อทดสอบและนำร่องการพัฒนาระบบ
นอกจากนี้ ทุกท่านสามารถดาวน์โหลดข้อมูลระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลจาก TPMAP ผ่านปุ่มที่อยู่มุมบนขวาของหน้าจอ เพื่อร่วมกันใช้งานและพัฒนาให้ระบบมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเพื่อใช้กำหนดนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง และหากท่านมีข้อติชม ข้อแนะนำ ให้กับระบบ TPMAP รวมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลในการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ สามารถติดต่อได้ที่ งานประชาสัมพันธ์เนคเทค 02-564-6900 ต่อ 2330-2340 หรือ www.nectec.or.th